ปลากัดภาคกลาง หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า ปลากัด เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens อยู่ในวงศ์ Macropodinae ซึ่งอยู่ในวงศ์ใหญ่ Osphronemidae มีรูปร่างเพรียวยาวและแบนข้าง หัวมีขนาดเล็ก ครีบก้นยาวจรดครีบหาง หางแบนกลม มีอวัยวะช่วยหายใจบนผิวน้ำได้โดยใช้ปากฮุบอากาศโดยไม่ต้องผ่านเหงือกเหมือนปลาทั่วไป เกล็ดสากเป็นแบบ Ctenoid ปกคลุมจนถึงหัว ริมฝีปากหนา ตาโต ครีบอกคู่แรกยาวใช้สำหรับสัมผัส ปลาตัวผู้มีสีน้ำตาลเหลือบแดงและน้ำเงินหรือเขียว ครีบสีแดงและมีแถบสีเหลืองประ ในขณะที่ปลาตัวเมียสีจะซีดอ่อนและมีขนาดลำตัวที่เล็กกว่ามากจนเห็นได้ชัด
ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 6 เซนติเมตร พบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำนิ่งที่มีขนาดตื้นพื้นที่เล็กทั้งในภาคกลางและภาคเหนือในประเทศไทยเท่านั้น สถานะปัจจุบันในธรรมชาติถูกคุกคามจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและสารเคมีที่ตกค้าง
มีพฤติกรรมชอบอยู่ตัวเดียวในอาณาบริเวณแคบ ๆ เพราะดุร้ายก้าวร้าวมากในปลาชนิดเดียวกัน ตัวผู้เมื่อพบกันจะพองตัว พองเหงือก เบ่งสีเข้ากัดกัน ซึ่งในบางครั้งอาจกัดได้จนถึงตาย เมื่อผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเป็นฝ่ายก่อหวอดติดกับวัสดุต่าง ๆ เหนือผิวน้ำ ไข่ใช้เวลาฟัก 2 วัน โดยที่ปลาตัวผู้จะเป็นฝ่ายดูแลไข่และตัวอ่อนเอง โดยไม่ให้ปลาตัวเมียเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เป็นปลาที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีมาแต่โบราณ โดยปลากัดสายพันธุ์ดั้งเดิมจากธรรมชาติมักเรียกติดปากว่า 'ปลากัดทุ่ง' หรือ 'ปลากัดลูกทุ่ง' หรือ 'ปลากัดป่า' จากพฤติกรรมที่ชอบกัดกันเองแบบนี้ ทำให้นิยมนำมาเลี้ยงใช้สำหรับกัดต่อสู้กันเป็นการพนันชนิดหนึ่งของคนไทย และได้มีการพัฒนาสายพันธุ์และความสามารถในชั้นเชิงการกัดจนถึงปัจจุบัน จนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทยและเป็นที่รับรู้ของชาวต่างชาติในชื่อ 'Siamese fighting fish'
ในปัจจุบัน ปลากัดภาคกลางได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น มีสีสันที่สวยงามและหลากหลายขึ้น เรียกว่า 'ปลากัดหม้อ' นิยมเลี้ยงในภาชนะขนาดเล็กและแคบ เช่น ขวดโหล ขวดน้ำอัดลม เป็นต้น อีกทั้งยังได้พัฒนาสายพันธุ์ในแง่ของความเป็นปลาสวยงามอีกหลายสายพันธุ์ เช่น ปลากัดจีน ที่มีเครื่องครีบยาว ปลากัดแฟนซี ที่มีสีสันหลากหลายสวยงาม ปลากัดคราวน์เทล หรือ ปลากัดฮาร์ฟมูน เป็นต้น
ปลากัด มี ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens และ มีชื่อสามัญว่า Siamese Fighting Fish เป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่นิยมเพาะเลี้ยงกันมาเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากปลากัดไทยนั้นเป็นสัตว์ที่หาได้ง่ายตามลำน้ำลำคลองทั่วไป อีกทั้งมีสีสันลวดลาย ที่งดงาม ต่อมาได้มีการผสมข้ามพันธุ์กับต่างสายพันธุ์ จึงมี สายพันธุ์ต่างๆเพิ่มขึ้นมากมาย จนในปัจจุบันมีสายพันธุ์ต่างๆซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพันธุ์ แล้วแต่ว่าเราจะเลือกเลี้ยงแบบไหน ทั้งนี้การเลี้ยงปลากัด จะมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ หนึ่งเพื่อไว้ดูเล่น และเพื่อกีฬากัดปลา ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย มีการเพาะเลี้ยงปลากัดกันแพร่หลาย เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงและเพาะพันธุ์ได้ง่าย ต้องการความดูแลเอาใจใส่ไม่มากนักจึงเหมาะสมสำหรับผู้ที่หัดเริ่มเลี้ยงปลา ทั้งในการเลี้ยงไม่จำเป็นที่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยมากเนื่องจากปลากัดมีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษที่เรียกว่า labyrinth ซึ่งอวัยวะ นี้จะทำหน้าที่ ดึงออกซิเจนจากในน้ำ มาเปลี่ยนเป็นอากาศที่สมให้ปลาหายใจได้สอดคล้องกับสภาพในธรรมชาติ ที่มักจะพบปลากัดไทย ได้ทั่วในน้ำที่นิ่ง หรือน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ นอกจากนั้นเรายังพบปลากัดไทยในนาข้าว กระจาย
ทั่วไปในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปลากัดเลี้ยงมีอายุเฉลี่ยเต็มที่ 2 ปี หรือน้อยกว่า แล้วแต่การดูแลรักษาสุขภาพปลาของผู้เลี้ยง อย่างไรก็ดี ปลากัดพันธุ์ดั้งเดิมธรรมชาตินั้น มักจะมีสีน้ำตาลขุ่นหรือสีเทาแกมเขียว มีลายตามตัว รวมถึงครีบ และหางสั้น
ส่วนปลาเพศผู้มีครีบและหางยาวกว่าเพศเมียเล็กน้อย แต่จากการ เพาะพันธุ์ และการคัดเลือกพันธุ์ติดต่อกันมานาน ทำให้ปัจจุบันปลากัดที่มีอยู่ตามท้องตลาดนั้น จะมีสีสันสวยงามหลากสี อีกทั้งลักษณะครีบก็แผ่กว้างใหญ่สวยงามกว่าดั้งเดิมมาก และจากสาเหตุนี้เองทำให้มีการจำแนกพันธุ์ปลากัดออกไปได้เป็นหลายชนิด เช่น ปลากัดหม้อ,ปลากัดทุ่ง, ปลากัดจีน, ปลากัดเขมร เป็นต้น
ในปัจจุบัน การพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดกำลังเป็นที่ยอมรับ และรับความนิยมจากนักเลี้ยงปลากัดเพื่อความสวยงาม แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ปัจจุบันนี้ ปลากัดมีสีสันสวยงามมากตั้งแต่ สีเหลืองทั้งตัว สีฟ้า Half moon โดยมีเรื่องอ้างอิงกันมาถึงการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัด โดยใช้สภาพแวดล้อมเป็นตัวเหนี่ยวนำ ด้วยมีความเชื่อว่า ปลาที่มีสีสันสวยงามต่าง ๆ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการถ่ายทอดความรู้สึกของเพศเมีย ไปยังลูกปลา จนได้มีการนำเทคนิคเหล่านี้มาใช้ในบรรดานักเพาะปลาทั้งหลาย โดยการวาดรูปปลากัดที่มีสีสันตามที่ต้องการ เช่น สีเหลืองทั้งตัว ตั้งวางโดยรอบปลาเพศเมียในระหว่างที่ทำการเทียบคู่นั้น วิธีการนี้เรียกว่า Pseudo-breeding technique ถึงแม้ว่าจะไม่มีการพิสูจน์ออกมาทางวิชาการแต่ก็ได้รับการยืนยันจากนักเพาะเลี้ยงทั้งหลายว่า พบว่าคอกหนึ่ง ๆ ที่ได้ลูกปลาออกมานั้นจะมี 1 - 2 ตัวที่มีลักษณะเหมือนกับภาพที่วาดไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และแปลกประหลาดมากทีเดียว…